หากจะกล่าวถึงอาชีพที่มีความเสียสละส่วนรวมเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง เราคงนึกถึงอาชีพ ทหาร ที่คอยปกป้องเหล่าอาณาประชาราษฎร์และแผ่นดินไทยจากผู้คุกคามอยู่เสมอด้วยชีวิต ทหารทุกคนทุกหน่วยมีการฝึกที่แข็งแกร่งและมีระเบียบวินัยเพื่อศักยภาพในการปกป้องประเทศอย่างสูงสุด แต่นอกจากนั้นก็ยังมีหน่วยรบพิเศษต่าง ๆ ขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น หนึ่งในหน่วยรบพิเศษที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดก็คือ ทหารเสือราชินี
ความเป็นมาของทหารเสือราชินีนั้นมาจากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระประสงค์ที่จะเพิ่มขีดความสามารถของกำลังพลให้มีความแข็งแกร่งในการออกปฏิบัติภารกิจทุกแบบ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ จึงได้มีการเปิดหลักสูตรทหารเสือขึ้นในปี พ.ศ.2524 เพื่อคัดเลือกทหารผู้มีความแข็งแกร่งมาฝึกเป็นหน่วยรบพิเศษที่มีความสามารถรอบด้านมากขึ้น โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับคัดเลือกให้เข้าฝึกนั้น ต้องเป็นนายทหาร หรือกำลังพลภายในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ หากเป็นกำลังพลจากภายนอกก็ต้องได้รับการอนุมัติจากกองทัพบก ระยะเวลาการฝึกจัดมีการจัด 2 ปีต่อ 1 รุ่น โดยแบ่งเป็นช่วงเวลาการฝึกแบบต่างๆ รวม 16 สัปดาห์ ดังนี้
– การฝึกภาคที่ 1 ฝึกฝนร่างกายและจิตใจ
เพื่อให้มีวินัยและความอดทน เวลา 4 สัปดาห์ หากผ่านการฝึกฝนนี้จึงจะสามารถเข้าสู่การฝึกขั้นต่อไป
– การฝึกภาคที่ 2 ฝึกภาคภูเขาและป่า
เน้นฝึกการโจมตีโดยแทรกซึมทางอากาศด้วยพาหนะอากาศยาน แทรกซึมทางพื้นดินในลักษณะชุดปฏิบัติการ หน่วยทหารเฉพาะกิจเล็ก หรือลักษณะของกำลังกองโจร การฝึกเดินป่า ฝึกขี่ม้า และยานพาหนะภาคพื้นดินทุกชนิด รวมทั้งการศึกษาโครงการในพระราชดำริด้วย การฝึกในภาคที่ 2 นี้ใช้เวลา 4 สัปดาห์
– การฝึกภาคที่ 3 ฝึกภาคทะเล
เน้นการโจมตีโดยแทรกซึมทางน้ำในทุกรูปแบบ ทั้งการดำน้ำ การลาดตระเวนตามชายฝั่ง ยุทธวิธีสะเทินน้ำสะเทินบก การดำรงชีวิตในทะเลและประเพณีต่างๆ ของชาวทะเล การฝึกโดดร่มลงทะเล การฝึกในภาคที่ 3 นี้ใช้เวลา 3 สัปดาห์
– การฝึกภาคที่ 4 ฝึกภาคปฏิบัติการในเมือง
เน้นการปฏิบัติการ และโจมตีบริเวณพื้นที่ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบต่างๆ ที่อยู่ในเมือง การขับขี่จักรยานยนต์เพื่อติดตามเหล่าร้าย การชิงตัวประกัน และยุทธวิธีต่อต้านการก่อการร้ายในรูปแบบต่าง ๆ การฝึกในภาคที่ 4 นี้ใช้เวลา 3 สัปดาห์
– การฝึกภาคที่ 5 ฝึกภาคอากาศ
เน้นการฝึกทักษะและความสามารถให้ชำนาญด้านการกระโดดร่มในทุกแบบทุกสถานการณ์ การฝึกในภาคที่ 5 นี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์
เมื่อกำลังพลเหล่านั้นสามารถฝึกจนผ่านภาคสุดท้าย เขาก็จะได้ชื่อว่าเป็น ทหารเสือราชินี ที่มีความแข็งแกร่งและมีความสามารถอย่างเต็มภาคภูมิ และจะได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติทหารเสือเป็นเข็มโลหะรูปหัวใจสีม่วง มีพระนามาภิไธยย่อ สก. อยู่ตรงกลาง สองข้างจะมีรูปเสือที่ทะยานอยู่เหนือก้อนเมฆ ภูเขา และเกลียวคลื่นทะเล และด้านล่างเป็นรูปผ้าแพรสีฟ้าเขียนข้อความว่า “ทหารเสือ”